เป็นชื่อเรียกโดยรวมของดึกดำบรรพ์ในอันดับใหญ่ Dinosauria ซึ่งเคยครองระบบนิเวศน์บนพื้นพิภพ ในมหายุคมีโซโซอิก เป็นเวลานานถึง 165 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลาน แต่อันที่จริงไดโนเสาร์เป็นสัตว์ในอันดับหนึ่งที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างสัตว์เลื้อยคลานและนก
คำว่า ไดโนเสาร์ ในภาษาอังกฤษ dinosaur ถูกตั้งขึ้นโดย
เซอร์ ริชาร์ด โอเวน นักบรรพชีวินวิทยา ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นการผสมของคำในภาษากรีกสองคำ คือคำว่า deinos (ใหญ่จนน่าสะพรึงกลัว) และคำว่า sauros (สัตว์เลื้อยคลาน)ส่วนที่จะให้แสดง

ส่วนที่เหลือหลายคนเข้าใจผิดว่า ไดโนเสาร์ คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหายุคมีโซโซอิกทั้งหมด แต่จริงๆ แล้ว ไดโนเสาร์ คือสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นดินเท่านั้น สัตว์บกบางชนิดที่คล้ายไดโนเสาร์ สัตว์น้ำและสัตว์ปีกที่มีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ ไม่ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ เป็นเพียงสัตว์ชนิดที่อาศัยอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์เท่านั้น
แม้ว่าไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปนานหลายล้านปีแล้ว แต่คำว่าไดโนเสาร์ก็ยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไดโนเสาร์นั้นนับว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยปริศนาและความน่าอัศจรรย์เป็นอันมากนั่นเอง

Read More

อินเตอร์เน็ต (Internet) คือ เครือข่ายของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน มาจากคำว่า Inter Connection Networkส่วนที่จะให้แสดง
ส่วนที่เหลือ อินเตอร์เน็ต (Internet) เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีขนาดใหญ่ เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องทั่วโลก สามารถติดต่อสื่อสารถึงกัน ได้โดยใช้มาตรฐาน ในการรับส่งข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียว หรือที่เรียกว่าโปรโตคอล (Protocol) ซึ่งโปรโตคอล ที่ใช้บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีชื่อว่า ทีซีพี/ไอพี (TCP/IP : Transmission Control Protocol/Internet Protocol) ลักษณะของระบบอินเตอร์เน็ต เป็นเสมือนใยแมงมุม ที่ครอบคลุมทั่วโลก ในแต่ละจุดที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตนั้น สามารถสื่อสารกันได้หลายเส้นทาง ตามความต้องการ โดยไม่กำหนดตายตัว และไม่จำเป็นต้องไปตามเส้นทางโดยตรง อาจจะผ่านจุดอื่น ๆ หรือ เลือกไปเส้นทางอื่นได้หลาย ๆ เส้นทาง การติดต่อสื่อสาร ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นั้นอาจเรียกว่า การติดต่อสื่อสารแบบไร้มิติ หรือ Cyberspace

Read More


ข้อมูลทั่วไป
เนื่องจาก ระยะนี้ เส้นทางขึ้นดอยสุเทพ อยู่ในระหว่างการปรับปรุง ซ่อมแซมถนน ดังนั้น นักท่องเที่ยวท่านใด ต้องการขึ้นดอยสุเทพ กรุณาขับรถด้วยความระมัดระวังดอยสุเทพไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ที่ประทับช่วงฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทว่าดอยสูงแห่งนี้ยังสมบูรณ์ด้วยสภาพธรรมชาติทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า โดยเฉพาะนก ประกอบกับการเดินทางเข้าถึงสะดวก เพราะเชิงดอยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 6 กิโลเมตร และบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดดอยประมาณ 16 กิโลเมตร ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้เที่ยวชมได้ตลอด

ดอยสุเทพ เดิมชื่อว่า “ดอยอ้อยช้าง” สำหรับดอยสุเทพที่เรียกกันในปัจจุบันนี้เป็นชื่อที่ได้มาจาก “พระฤาษีวาสุเทพ” ซึ่งเคยบำเพ็ญตบะอยู่ที่เขาลูกนี้เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว แต่เดิมก่อนที่ป่าดอยสุเทพจะได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นป่าหวงห้าม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 28 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2492 ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2507 และได้มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติพิเศษเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2510 ในขณะเดียวกันกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งสถานีวนกรรมภาคเหนือขึ้นในพื้นที่บริเวณดอยสุเทพเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าในที่สูง การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และการทดลองปลูกพืชพรรณไม้ต่างถิ่น เช่น สน ยูคาลิปตัส และไม้เมืองหนาวอีกหลายชนิด ซึ่งยังคงสภาพอยู่หลายแปลงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2516 ทางราชการได้กำหนดป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงส่ง นายปัญญา บุญสมบูรณ์ ออกไปดำเนินการสำรวจป่าดอยสุเทพ-ปุย หลังจากนั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจึงได้มีมติให้กำหนดพื้นที่ที่เป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยกันพื้นที่ของราษฎรออกไป และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่า ดอยสุเทพ ในท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม ตำบลแม่สา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลบ้านปง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง และตำบลช้างเผือก ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 57 วันที่ 14 เมษายน 2524 ครอบคลุมพื้นที่ 100,662.50 ไร่ หรือ 161.06 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 24 ของประเทศ ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายขอบเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ครอบคลุมบริเวณน้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก-วังฮาง น้ำตกตาดหมอกฟ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยรอบของน้ำตกทั้งสามแห่งในพื้นที่ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง และตำบลแม่แรม ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 62,500 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 163,162.50 ไร่ หรือประมาณ 261.06 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 วันที่ 26 กันยายน 2525

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนอยู่ในแนวเทือกเขาถนนธงไชยที่สืบเนื่องต่อจากเทือกเขาหิมาลัย ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 330-1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมียอดดอยปุยเป็นจุดที่สูงที่สุด นอกจากนี้มียอดเขาต่างที่สูงลดหลั่นกันมา ได้แก่ ยอดดอยสุเทพที่บริเวณสันกู่ สูง 1,601 เมตร ยอดดอยแม่สาน้อย สูง 1,549 เมตร ยอดดอยค่อมร่อง สูง 1,459 เมตร ยอดดอยบวกห้าบริเวณพระตำหนักภุพิงค์ราชนิเวศน์ สูง 1,400 เมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สูง 1,130 เมตรจากระดับน้ำทะเล สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในเขตอำเภอแม่แตงมีความสูงอยู่ในระหว่าง 400-980 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยทั่วไปประกอบด้วย หินอัคนี ชนิดที่สำคัญได้แก่ หินแกรนิต นอกจากี้ยังมีหินชั้นและหินแปร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอรอบๆ ได้แก่ อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง อำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แตง มีลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ห้วยตึงเฒ่า ห้วยแม่หยวก ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน ห้วยปงน้อย ห้วยแม่เหียะ ห้วยแม่นาไทร และห้วยแม่ปอน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยมีความหลากหลายทางด้านระดับความสูงและมีเทือกเขาสลับซับซ้อนสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยทั่วไปแล้วสภาพภูมิอากาศในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 2-23 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีระหว่าง 1,350-2,500 มิลลิเมตร โดยมีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 139 วัน และมีค่าเฉลี่ยความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบริเวณที่สูงของอุทยานแห่งชาติ เช่น บริเวณยอดดอยปุย สภาพอากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและชุ่มชื้น เนื่องจากได้รับไอน้ำจากเมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่เกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในพื้นที่อยู่ระหว่าง 10-12 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในวันที่อากาศหนาวจัด ค่าอุณหภูมิอาจลดลงถึง 4-5 องศาเซลเซียส


พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยสามารถจำแนกออกเป็น

ป่าเต็งรัง พบกระจายอยู่บริเวณรอบๆ ชายขอบของอุทยานแห่งชาติที่ระดับความสูงระหว่าง 330-850 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านลาดทิศตะวันออกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ พืชพรรณส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม ก่อแพะ ก่อตาหมู รักใหญ่ แข้งกวาง หว้า ฯลฯ พืชอิงอาศัย ได้แก่ เอื้องแซะ เอื้องดอกมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี มอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช และหญ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น
ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ในชั้นระดับความสูง 330-950 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่หลายชนิด พืช พรรณประกอบด้วย สัก ตะแบก ประดู่ มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ ฯลฯ พืชอิงอาศัยได้แก่ เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา เป็นต้น
ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในชั้นระดับความสูงระหว่าง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามบริเวณหุบเขา บริเวณต้นน้ำลำธาร เช่น บริเวณน้ำตกมณฑาธาร น้ำตกสันป่ายาง และห้วยแม่ลวด ฯลฯ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อแดง มะไฟป่า เสี้ยวป่าดอกขาว มะเกลือเลือด ฯลฯ พืชพื้นล่างจะเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบความชื้นสูงขึ้นอยู่อย่างแน่นทึบ เช่น กล้วยป่า หมากป่า เขือง หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออส มันด้า กูด เฟิน หวายไส้ไก่ เป็นต้น
ป่าดิบเขา พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไปจนถึงบริเวณยอดดอยปุย ต้นไม้ในป่าจะมีพืชเกี่ยวเกาะขึ้นปกคลุมตามลำต้นและเรือนยอดอย่างหนาแน่น ที่สำคัญได้แก่ กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ฝอยลม มอส คำขาวหรือกุหลาบพันปีสีขาว ฯลฯ พรรณไม้เด่นที่สำคัญได้แก่ ก่อแป้น ก่อเลือด ก่อนก มณฑาหลวง จำปีป่า สารภีดอย กำลังเสือโคร่ง อบเชย ทะโล้ กำยาน ฯลฯ ในบางแห่งจะมีสนสามใบขึ้นปะปนอยู่ พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้าคา หญ้าใบไผ่ ม้าสามตอน กูดต้น ขิงป่า ข่าป่า และกระชายป่า เป็นต้น
สัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่อยู่ในสภาพวิกฤติ ทั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและขนาดกลางมีจำนวนลดลงมาก เช่น เก้ง กวางป่า ลิง ชะนี ฯลฯ และสัตว์ขนาดใหญ่บางชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง และเสือ เป็นต้น ปัจจุบันสัตว์ป่าที่ยังคงพบเห็นในพื้นที่ได้แก่ หมูป่า อีเห็นเครือ อีเห็นข้างลาย เม่นหางพวง อ้นเล็ก กระจ้อน กระเล็นขนปลายหูสั้น ค้างคาวมงกุฎเล็ก หนูขนเสี้ยนดอย หนูท้องขาว เต่าปูลู จิ้งจกบ้านหางแบนเล็ก กิ้งก่าหัวแดง งูสายม่านพระอินทร์ งูแส้หางม้าเทา อึ่งกรายหัวเล็ก กบหนอง อึ่งขาคำ และนกนานาชนิดกว่า 300 ชนิด เช่น นกกระจิบหญ้าสีข้างแดง นกกระทาทุ่ง นกกะเต็นน้อย นกกางเขนบ้าน นกกาแวน นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกขุนแผน นกเขาใหญ่ นกจับแมลงคอแดง นกจาบคาหัวสีส้ม นกแซงแซวสีเทา นกเด้าดินทุ่ง นกตบยุงหางยาว นกปรอดทอง นกพญาปากกว้างอกสีเงิน นกหกเล็กปากแดง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกอีวาบตั๊กแตน นกอีเสือหัวดำ เหยี่ยวนกเขาซิครา เป็นต้น

Read More


ทุ่งกระเจียวบานกลางลานหิน
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อยู่ในพื้นที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำชีและแม่น้ำป่าสักมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งโดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียว มีเนื้อที่ประมาณ 62,437.50 ไร่ หรือ 99.9 ตารางกิโลเมตรความเป็นมา เดิมบริเวณลานหินงามเป็นที่รู้จักเฉพาะราษฎรในท้องถิ่น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2528 นายอำเภอเทพสถิต และป่าไม้อำเภอเทพสถิต ได้ออกตรวจพื้นที่และพบกับลานหินธรรมชาติที่มีรูปร่างสวยงามมีคุณค่าควรอนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนของบุคคลทั่วไป จึงเสนอเรื่องไปยังกรมป่าไม้ผ่านทางจังหวัดชัยภูมิ ในชั้นต้นกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นวนอุทยานป่าหินงาม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2529 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,250 ไร่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2536 กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงอย่างละเอียด และพบว่ายังมีพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เมื่อรวบรวมพื้นที่แล้วประมาณ 112 ตารางกิโลเมตร หรือ 70,000 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้กันหมู่บ้านออกจากพื้นที่เรียบร้อยแล้วโดยการปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งพื้นที่เตรียมจัดตั้งนี้มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา มีลานหินที่มีรูปลักษณ์สวยงาม มีพันธุ์ไม้ล้มลุกประจำถิ่น ที่มีดอกสีชมพูอมม่วงชูดอกสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝน มีน้ำตกไหลตลอดปี สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติต่อมากรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1642/2537 ให้ นายวิวัฒน์ จันทร์เผือก นักวิชาการป่าไม้ 5 ตำแหน่งเลขที่ 2459 อุทยานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ไปดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติป่าหินงามแห่งนี้ด้วยต่อมาปี 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลโป่งนก ตำบลนายางกลัก ตำบลบ้านไร่ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต และตำบลซับใหญ่ กิ่งอำเภอซับใหญ่ อำเภอจตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 26 ก ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2550 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 105 ของประเทศ


ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา ประกอบไปด้วยภูเขาต่างๆ เช่น เขาพังเหย มีความสูงประมาณ 200 - 800 เมตร ทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหมวดหินภูพานหมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง เป็นหินในระหว่างช่วงเวลาประมาณ 180 - 230 ล้านปี ยุคจูแลสสิกและไทรแอสสิก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำชี (แม่น้ำชี) ลำน้ำสนธิซึ่งไหลลงแม่น้ำป่าสัก


ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จากลักษณะของแนวเทือกเขาพังเหยกั้นอยู่ในแนวเหนือ–ใต้ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นจากทะเลมาตกเป็นฝนในพื้นที่เป็นปริมาณมากจากข้อมูลของสถานีตรวจอากาศอุทยานแห่งชาติป่าหินงามในระหว่าง พ.ศ. 2543–2546 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนตลอดปีเฉลี่ย 1,782.6 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตก 109 วัน/ปี โดยมีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม วัดได้ 338.3 มิลลิเมตร ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน วัดได้ 33 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม วัดได้ 18.3 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี วัดได้ 24.8 องศาเซลเซียส สำหรับฤดูกาลเมื่อพิจารณาตามลักษณะอุณหภูมิ ประมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์แล้ว สามารถแบ่งฤดูกาลได้ดังนี้
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 278.5 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 23.2 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 25.9 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังผสมผลัดใบป่าดิบแล้ง มีไม้เหียงเป็นไม้เด่น และมี เต็ง รัง พยอม ก่อ กะบก ประดู่ อินทนิลบก ส้าน ฯลฯ สัตว์ป่า ได้แก่ เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า นิ่ม เม่น อ้น อีเห็น กระรอก ลิง ฯลฯ


Read More


ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นชื่อเรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของจังหวัดขอนแก่น แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “น้ำพอง-ภูเม็ง” เพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง อุทยานแห่งชาติน้ำพองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่นติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง ในเขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ อำเภอมัญจาคีรี และ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 197 ตารางกิโลเมตร หรือ 123,125 ไร่จังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 ขอให้กรมป่าไม้พิจารณากำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ในท้องที่จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์และจุดเด่นที่สวยงาม โดยจังหวัดขอนแก่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำการสำรวจปรับปรุงแนวเขตให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ทุกฝ่ายแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องแนวเขตและที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าดังกล่าวกรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าดังกล่าวปรากฏว่า พื้นที่ป่ายังมีความสมบูรณ์ หากพิจารณาตามความหมายของอุทยานแห่งชาติแล้วยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่สมควรอนุรักษ์ไว้สำหรับประชาชนจังหวัดขอนแก่น โดยเห็นสมควรกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้เคียงเพิ่มเติม ได้แก่ ป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ และป่าภูผาแดง จังหวัดชัยภูมิ และป่าโสกแต้ รวมพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นอุทยานแห่งชาติด้วย เนื่องจากยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีจุดเด่นและจุดชมทิวทัศน์ที่น่าสนใจอุทยานแห่งชาติน้ำพองได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าโสกแต้ในท้องที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ ตำบลทุ่งโป่ง ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ ตำบลนาหว้า ตำบลหนองกุงเซิน อำเภอภูเวียง ตำบลโคกงาม ตำบลป่าหวายนั่ง ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง และตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ป่าภูเม็ง และป่าโคกหลวง ในท้องที่ตำบลบ้านเม็ง ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ ตำบลคำแคน ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น และตำบลสระพัง ตำบลบ้านเต่า ตำบลหนองคู อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ และป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง และป่าโคกหลวง แปลงที่สาม ในท้องที่ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี ตำบลบ้านโคก ตำบลซับสมบูรณ์ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และตำบลหนองสังข์ ตำบลบ้านแก้ง ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 105ก ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543


ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไป มีลักษณะสัณฐานเป็นเทือกเขาหินทรายสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางคล้ายกับเทือกเขาทั่วๆ ไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ขนานกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารส่วนหนึ่งของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำชี เป็นต้น แบ่งพื้นที่ได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ในเทือกเขาภูพานคำ ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้อยู่ในเทือกเขาภูเม็ง พื้นที่ด้านทิศตะวันตกมีสภาพลาดชันสลับกับหน้าผาในบางช่วงจรดที่ราบอ่างเก็บน้ำด้านล่าง ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขามีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 600 เมตร


ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูกาลของอุทยานแห่งชาติน้ำพองแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะร้อนจัดในเดือนเมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนจะตกมากช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงทางตอนใต้ของประเทศจีน


พืชพรรณและสัตว์ป่า
พื้นที่ประมาณร้อยละ80 ของอุทยานแห่งชาติน้ำพองปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรังโดยมีป่าเบญจพรรณ ป่าทุ่งหญ้า และป่าไผ่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบางพื้นที่ ลึกเข้าไปบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ทั้งในเทือกเขาภูพานคำและเทือกเขาภูเม็งมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งสมุนไพรที่สำคัญของอุทยานอีกด้วย พันธุ์ไม้มีค่าและพบเห็นได้ทั่วไป เช่น เต็ง รัง เหียง กระบก มะพอก ตะเคียนหิน พืชพื้นล่างจำพวกปรงป่า เถาวัลย์ ไม้หนามชนิดต่างๆ รวมทั้งสมุนไพรนานาพันธุ์อีกมากมาย สำหรับสัตว์ป่าส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งบริเวณเทือกเขาภูเม็ง เพราะเป็นแหล่งหากินที่อุดมสมบูรณ์และถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก สัตว์ป่าที่พบเห็นเป็นสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ หมูป่า เก้ง สุนัขจิ้งจอก เม่น นิ่ม กระต่ายป่า ไก่ป่า งู และนกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

Read More

ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เรียกตามชื่อของภูเขาเทือกหนึ่งทางตอนใต้ ของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าผาสูงชัน คล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มองดูเหมือนกับผ้าม่านผืนใหญ่ อยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือ 218,750 ไร่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันผลจากการทำสัมปทานป่าไม้ทำให้พื้นป่า และจำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1473/2532 ลงวันที่ 27 กันยายน 2532 มอบหมายให้ นายพนม พงษ์สุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 4 ให้สำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าดงลาน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และพื้นที่ป่าใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร และมีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำและน้ำตก ทางราชการจึงมีประกาศกฤษฎีกา กำหนดให้รวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เข้ากับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงลาน ท้องที่อำเภอชุมแพ กิ่งอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ในปี พ.ศ.2534 โดยได้พระราชกฤษฏีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงลานในท้องที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ และตำบลห้วยม่วง ตำบลวังสวาบ ตำบลนาฝาย ตำบลภูผาม่าน กิ่งอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือยในท้องที่ตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เนื้อที่โดยประมาณ 218,750 ไร่ หรือ 350 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 72 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงชันสลับซับซ้อนกันเป็นแนวยาวสลับกับที่ราบลุ่มเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-800 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยภูฮี ห้วยชมพู ห้วยคะเฮ้า ห้วยจอก ห้วยยาง ห้วยซำแคน ห้วยตากว้าง ห้วยข้าวหลาม ห้วยสงขะยวน และห้วยหม้อแตก ซึ่งลำห้วยเหล่านี้ไหลลงสู่ลำน้ำพองที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึงและลำน้ำเชิญในจังหวัดขอนแก่น สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรังอยู่ปะปนกับหินชนิดต่างๆ
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศโดยทั่วไป อากาศร้อนถึงร้อนจัดอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39 องศาเซลเซียส
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พรรณไม้สำคัญ ได้แก่ ประดู่ มะค่าโมง ตะแบก เหียง พลวง แดง เต็ง รัง พรรณไม้พื้นล่างที่ขึ้นอยู่หนาแน่น ได้แก่ หว่านไพร ชัน ข่าป่า เพ็ก หวาย กล้วยไม้ป่า หญ้าคา แฝก ฯลฯสัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมูป่า เก้ง ลิง กระต่ายป่า นิ่มหรือลิ่น เม่น ตะกวด ไก่ป่า นกชนิดต่าง ๆ และแมลงกว่า 200 ชนิด
ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติภูผาม่านต.นาหนองทุ่ม อ. ชุมแพ จ. ขอนแก่น 40130โทรศัพท์ : 0 4324 9050

รถยนต์
จากขอนแก่น โดยรถยนต์โดยสาร (ขอนแก่น - เลย) ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ลงที่หลักกิโลเมตรที่ 112 - 113 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดยาง 5 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง
- จากกรุงเทพฯ โดยรถประจำทางและรถปรับอากาศกรุงเทพฯ-เลย , กรุงเทพฯ-เชียงคาน ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 112 - 113 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร- จากขอนแก่น โดยรถยนต์โดยสาร (ขอนแก่น - เลย) ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ถนนมะลิวัลย์ (ขอนแก่น - เลย) ลงที่หลักกิโลเมตรที่ 112 - 113 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร

แหล่งท่องเที่ยว
ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
ถ้ำผาพวง เดิมเรียก “ถ้ำร้อยพวง” ภายในมีหินย้อยลงมาจากเพดานลักษณะเป็นพวง สวยงามมาก เพดานถ้ำสามารถทะลุออกไป ยอดเขาใช้เป็นจุดชมวิวได้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ถ้ำพญานาคราช เป็นถ้ำที่มีความสวยงามเป็นอันดับ 1 ของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ภายในถ้ำมืดสนิท แบ่งออกเป็นห้องๆ แต่ละห้องประกอบด้วยหินงอกหินย้อยที่ส่องประกายแวววาวระยิบระยับสวยงามตระการตา โดยเฉพาะห้องโถงใหญ่มีม่านหินย้อยขนาดใหญ่ห้อยลงมาจากเพดานสูงแล้วแผ่กว้างออก รถยนต์สามารถเข้าถึงเชิงเขาที่เป็นตัวถ้ำได้
ถ้ำภูตาหลอ ภายในถ้ำเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ จุคนได้ถึง 1,000 คน พื้นถ้ำราบเรียบกว้างเพดานสูง มีหินงอกหินย้อยเป็นพวงๆ สวยงามตระการตา ปัจจุบันกำลังปรับปรุงเส้นทางเข้าถึงตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
น้ำตกตาดฮ้อง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำน้ำพองที่มีต้นกำเนิดอยู่บนภูกระดึง มีความสูงประมาณ 60-70 เมตร อยู่ระหว่างเขตรอยต่อของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงและอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ในยามที่สายน้ำตกกระทบแผ่นหินจะเกิดเสียงดังก้องทั่วป่า จนเป็นที่มาของชื่อ “ตาดฮ้อง” เส้นทางเข้าถึงค่อนข้างลำบาก จึงทำให้ยังเป็นน้ำตกที่ค่อนข้างบริสุทธิ์อยู่
น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้า มีความสูงประมาณ 20 -30 เมตร มีชั้นน้ำตกลดหลั่นลงไปตลอดสายก่อนไหลลงสู่ลำน้ำเชิญ ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงและมีความสวยงามมาก ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบน้ำตกตาดใหญ่ซึ่งเป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยเดียวกัน
น้ำตกพลาญทอง เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามในฤดูน้ำหลาก สูงประมาณ 10 เมตร ห่างจากที่ทำการของอุทยานฯ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำที่เป็นน้ำซับหลายๆ สายไหลมารวมกันแล้วไหลลงสู่หน้าผาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยลดหลั่นกันลงไป
น้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วย น้ำตกชั้นเล็กชั้นน้อย ที่ไหลลดหลั่นกันลงไปเป็นขั้นบันไดหลายชั้น มีความสูงประมาณ 80 เมตร เป็นน้ำตกที่มีความอลังการและสวยงามมาก โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก รถยนต์สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้
ถ้ำค้างคาว มีค้างคาวอาศัยอยู่นับล้านตัว ช่วงหัวค่ำฝูงค้างคาวจะพากันบินออกจากถ้ำเป็นสาย พลิ้วไหวไปมาน่าตื่นตาตื่นใจ

สิ่งอำนวยความสะดวก :
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

Read More